อริยกะ อักษรของ “ผู้เป็นอารยชน”
- Aksara Roywaleelikhit
- 14 เม.ย. 2563
- ยาว 1 นาที

"อักษรอริยกะ" เป็นอักษรที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงประดิษฐ์ขึ้น โดยมีพระราชประสงค์สำหรับใช้เขียนภาษาบาลีทดแทนการใช้ตัวอักษรขอมในระหว่าง พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๓๙๔
แม้นว่าอักษรขอมนั้นจะมีการใช้งานมานานนับแต่อดีต แต่ด้วยความซับซ้อนของการเขียนอันประกอบไปด้วยตัวเต็ม ตัวเชิง สระจม สระลอย ซึ่งยุ่งยากในการเขียนและอ่าน ยากแก่การเข้าใจและการนำไปใช้ ตัวอักษรอริยกะ ถูกดัดแปลงรูปทรงตัวอักษรมาจากตัวโรมัน กำหนดให้มีรูปพยัญชนะ ๓๓ รูป และสระ ๘ รูป เท่ากันกับอักษรที่ใช้ในภาษาบาลี
ตัวอักษรอริยกะ มี ๒ รูปแบบ คือ
๑. ตัวอักษรอริยกะ แบบตัวพิมพ์
๒. ตัวอักษรอริยกะ แบบตัวเขียน
รูปตัวอักษรอริยกะนั้น มองผิวเผินเหมือนกับภาษาอังกฤษ แต่มิได้ถ่ายเสียงตามรูปแบบภาษาอังกฤษ แต่เลียนแบบตามรูปตัวอักษรที่มีความคล้ายหรือใกล้เคียงกับรูปอักษรขอม หรืออักษรไทยให้มากที่สุด
เช่น ตัว ก อักษรไทย อักษรอริยกะใช้ตัว n เนื่องจาก มีความคล้ายกันกับรูปตัว ก อักษรขอม เป็นต้น

รูปแบบตัวอักษรอริยะแบบตัวพิมพ์ ประกอบด้วยพยัญชนะและสระ เปรียบเทียบกับรูปอักษรไทย
ตัวอักษรอริยกะ แบบตัวเขียน ตัวอักษรแบบตัวเขียนนี้ แต่ละพยัญชนะและสระจะมี ๒ รูปอักษร คือ ตัวพิมพ์ใหญ่ และตัวพิมพ์เล็ก การใช้งานเหมือนกันกับตัวอักษรอริยกะ แบบตัวพิมพ์

รูปแบบตัวอักษรอริยะแบบตัวเขียน(พิมพ์ใหญ่,พิมพ์เล็ก) เปรียบเทียบกับรูปอักษรไทย
ตัวอย่างการใช้งานอักษรอริยกะ

คาถาเย ธมฺมา ฯ อักษรอริยกะแบบตัวพิมพ์เหนือประตูทางเข้าพระอุโบสถวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
๏ เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ ตถาคโต เหตุํ อาห
เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณติ ฯ
๏ พระมหาสมณเจ้ามีพระวาทะอย่างนี้ คือ ตรัสธรรมที่มีเหตุเป็นแดนเกิด อนึ่ง ตรัสเหตุของธรรมเหล่านั้น ตรัสความดับของธรรมเหล่านั้น และตรัสอุบายเป็นเหตุดับของธรรมเหล่านั้น ฯ

แบบหัดอ่านแม่เกย อักษรอริยกะ แบบตัวเขียน
" เกิดมาเป็นคน หนังสือเป็นต้น วิชาหนาเจ้า ถ้าแม้นไม่รู้ อดสูอายเขา เพื่อนฝูงเยาะเย้า ว่าเง่าว่าโง่ "

บทอาขยานสำหรับฝึกอ่านการสะกดแม่ ก กา
" แม่ไก่อยู่ในกะกร้า ไข่ไข่มาสี่ห้าใบ
อิแม่กาก็มาไล่ อิแม่ไก่ไล่ตีกา "

Comments