

อักษราร้อยวลีลิขิต
๏ อักษรา...ต่างถ้อย วาจา
ร้อย...ร่วมเรียงภาษา เจื่อยแจ้ว
วลี...เลิศอรรถา เทียมที่ เจตน์แฮ
ลิขิต...วิจิตรแพร้ว ไป่หน้าสถิตเสถียรฯ
ที่มาของคำว่า "อักษราร้อยวลีลิขิต"
อักษรา = ตัวอักษร (สระ-พยัญชนะ)
ร้อย = รวบรวม เรียง ทำให้เป็นกลุ่ม หมู่
วลี = คำตั้งแต่สองคำขึ้นไปมาเรียงต่อกันทำให้เกิดความหมาย
ลิขิต = จารึก บันทึก ขีดเขียน
ความหมายโดยรวม คือ การนำพยัญชนะ สระ มาร้อยเรียง และจารึกบันทึกไว้นั่นเอง
สืบสาน สร้างสรรค์ ส่งเสริม
อักษราร้อยวลีลิขิต มีจุดมุ่งหมายในการสืบสานและอนุรักษ์การเขียนอักษรต่าง ๆ ด้วยการกระบวนการแบบโบราณ รวมถึงสร้างสรรค์วัสดุอุปกรณ์เครื่องเขียน เครื่องใช้ อาทิ ปากกาขนนก ปากกาคอแร้ง ปากกาวัสดุธรรมชาติ เหล็กจาร น้ำหมึกอย่างในอดีต ให้กลับมามีบทบาทในการเขียนสำหรับผู้ที่สนใจอีกครั้ง และส่งเสริม สนับสนุนให้นักเรียนนักศึกษา ประชาชน หรือบุคคลที่สนใจ เห็นคุณค่าขององค์ความรู้ในการเขียน




น้ำหมึก
น้ำหมึกที่ทางอักษราร้อยวลีเลือกใช้ มี ๒ ตัว คือ
น้ำหมึกหมัก และน้ำหมึกจีน
น้ำหมึกหมัก ผลิตด้วยสูตรเฉพาะจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ
ผ่านการหมักนานกว่าครึ่งปี จึงได้น้ำหมึกที่ดี
มีลักษณะลื่น เหลวเหมาะกับการฝึกเขียนบนกระดาษทั่วไปและกระดาษข่อย
น้ำหมึกจีน ผ่านการกรองให้ได้น้ำหมึกที่นวลเนียน
เข้มข้น มีความหนืดเล็กน้อย เหมาะกับการเขียนบนสมุดข่อย
รวมถึงกระดาษทั่วไป
หัวปากกา
หัวปากกา เป็นตัวสร้างเส้นลักษณะต่าง ๆ
คือ ปัจจัยสำคัญในการทำให้ตัวอักษรมีรูปแบบ
รูปร่างที่แตกต่างกันไป
หัวปากกาคอแร้ง แยกเป็นคนละส่วนกับด้ามปากกา
สามารถถอดเปลี่ยนได้ ดังนั้นการเลือกใช้หัวปากกา
จำเป็นจะต้องเลือกให้เหมาะสม
กับตัวอักษรนั้น ๆ ที่ต้องการเขียนด้วย








ตราประทับ
ตราประทับ ขึ้นหุ่นตราด้วยไม้
แกะลวดลายลงบนหน้าตราโดยตรง ทรวดทรงเลียนอย่าง
งานโบราณ ลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
สามารถออกแบบลวดลายหน้าตราประทับ
ได้ตามความต้องการของผู้เป็นเจ้าของ